จำนำข้าวหรือประกันราคาข้าว.. โจทย์มีแค่นี้หรือ

การพยายามระบายข้าวที่รับจำนำมาจากชาวนาที่อยู่ในสต็อกของรัฐบาล ซึ่งถูกคณะรัฐมนตรีตั้งข้อสงสัยถึงความเหมาะสมในวิธีการ รวมถึงความระแวงแคลงใจว่าอาจจะมีความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินการประมูลขาย ข้าวครั้งนี้ด้วยนั้น กำลังนำไปสู่การรื้อระบบการพยายามช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้ดีขึ้น และก็ดูเหมือนรัฐบาลได้มีข้อสรุปแล้วว่า ควรจะเปลี่ยนมาเป็นระบบประกันราคาข้าวแทน ด้วยเหตุผลในเรื่องความง่ายในการบริหารจัดการ รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐลง ถ้าโจทย์มีเพียงแค่การเพิ่มประสิทธิภาพในการแทรกแซงตลาดข้าว ผมก็พอจะเห็นด้วยได้ว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่..โจทย์ในเรื่องนี้มีแค่นี้หรือ

ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมมองว่าการเข้าไปแทรกแซงตลาดข้าวมีนัยยะ (implications) มากกว่าการพยายามเข้าไปช่วยชาวนาซึ่งถือว่าเป็น”คนส่วนใหญ่” และ “มีรายได้ต่ำ” ผมจะไม่พยายามตอบคำถามของตัวเองในตอนนี้ว่า ชาวนาเป็น “คนส่วนใหญ่” และ “เดือดร้อน” ในเชิงเปรียบเทียบกับคนกลุ่มอื่นๆ จริงหรือไม่ แต่ต้องการแสดงความเห็นว่า การเข้าไปช่วยชาวนาเช่นนี้ อันที่จริงอาจจะไม่ได้เป็นการช่วยเหลือชาวนาจริงๆ ในระยะยาว เพราะการการกระทำเช่นนี้เป็นการใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศจำนวนมหาศาลเข้า ไปอุ้มชูกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีผลตอบแทนต่ำ เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดที่จะปรับเปลี่ยนทรัพยากรบุคคล ที่ดิน มันสมอง และอื่นๆ ไปสู่กิจกรรมที่ให้ผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจสูงขึ้น หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นการผูกชาวนาไว้กับท้องไร่ท้องนาต่อไป

ที่ แย่ไปกว่านั้นก็คือ การกระทำเช่นนี้ เป็นการอุดหนุน (subsidize) ทางอ้อม ต่อผู้บริโภคในต่างประเทศให้ได้บริโภคข้าวในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน ด้วยเงินภาษีของคนไทย ผ่านการบิดเบือนอุปทาน

ผมเห็นว่า ถ้ารัฐบาลต้องการเอาใจชาวนาเป็นการเฉพาะ นโยบายที่รัฐควรจะมุ่งเน้นมากกว่า น่าจะเป็นการพยายามให้มีการลดพื้นที่การปลูกข้าวลง ซึ่งอาจจะมีการให้เงินอุดหนุน รวมถึงการส่งเสริมอาชีพหรือพืชเศรษฐกิจอื่นๆ นโยบายเช่นนี้ จะทำให้เหลือชาวนาหรือพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า มีต้นทุนต่ำกว่า และที่สำคัญ ราคาข้าวก็น่าจะสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานลดลง แต่ถ้าไม่จำเป็นต้องเอาใจชาวนาเพียงกลุ่มเดียว รัฐบาลก็เพียงแต่หยุดการแทรกแซงตลาดข้าว เอาเงินภาษีที่เคยใช้เพื่อการนี้ไปใช้ในเรื่องการปรับปรุงสวัสดิการต่างๆ ต่อผู้มีรายได้น้อยโดยทั่วไป ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานจัดสรรทรัพยากรว่าควรจะใช้ทำนา ปลูกข้าวหรือทำอย่างอื่น รัฐบาลเองก็ไม่มีหน้าที่หรือความสามารถที่จะตัดสินว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจใด มีความเหมาะสม มีความเป็นไปได้ หรือมีอนาคต

ผมเข้าใจครับว่า ชาวนาเป็นฐานเสียงสำคัญทางการเมือง การส่งออกข้าวไปเลี้ยงคนอื่นๆ ในโลก เป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจของคนไทย แต่ก็ไม่เชื่อว่าการแทรกแซงตลาดข้าว ไม่ว่าจะเป็นการจำนำข้าวหรือการประกันราคา เป็นทางเลือกทางนโยบายเพียง 2 ทาง ที่มีอยู่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *