การเมืองไทยในช่วงกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา ในภาพรวมแล้วต้องถือว่าติดอยู่ในวัฏจักรชั่วร้ายแห่ง “ประชาธิปไตยสามานย์” ทำไมผมจึงพูดเช่นนี้
เหตุการณ์ที่มีความสำคัญและเป็นจุดเปลี่ยนของการเมืองไทย ผมจะสรุปสั้นๆดังนี้
- เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นจุดเปลี่ยนจากเผด็จการทหารมาสู่รัฐบาลพลเรือน
- ช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารมาเป็นรัฐบาลพลเรือน (2516-2540) เรามีนายกรัฐมนตรีพลเรือนสลับกับอดีตข้าราชการ และอดีตทหาร เริ่มจาก นายสัญญา ธรรมศักดิ์ มรว. เสนีย์ ปราโมทย์ มรว. คึกฤทธิ ปราโมทย์ นายธานินทร์ กรับวิเชียร พลเอกเกรียงศักด์ ชมะนันท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พลเอกชาติชาย ชุุณหะวัณ นายอานันท์ ปันยารชุุน พลเอกสุจินดา คราประยูร นายชวน หลีกภัย นายบรรหาร ศิลปอาชา พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นช่วงที่นักการเมืองค่อยๆ สถาปนาอำนาจทางการเมืองเหนือทหาร และทหารค่อยๆ ปรับตัวยอมรับการปกครองโดยพลเรือน (civilian rule)
- รัฐธรรมนูญ 2540 จนถึงปัจจุบัน เป็นยุคของการเริ่มสร้างระบบธรรมาภิบาลในการเมืองไทย (ดูเรื่อง “ธรรมรัฐ”) มีนายกรัฐมนตรีคือ นายชวน หลีกภัย พันตำรวจเอก ทักษิณ ชินวัตร พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมๆ กับการที่นักการเมืองได้คืบเข้ามาเป็นผู้กุมอำนาจทางการเมืองแทนทหารได้อย่างจริงจัง นักการเมืองส่วนหนึ่งก็เริ่มเห็นช่องทางในการลงทุนทางการเมืองและกอบโกยผลประโยชน์จากอำนาจเพื่อคืนทุนและสร้างกำไร เริ่มตั้งแต่การซื้อเสียงโดยจ่ายเงินให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยตรง การซื้อหัวคะแนน รวมไปถึงการซื้อตัวผู้สมัคร การเมืองเป็นเรื่องต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล และต้องถอนทุนด้วยการคอรัปชั่นและแบ่งปันผลประโยชน์กันระหว่างนักการเมืองด้วยกัน รวมถึงข้าราชการ
รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่พยายามแก้ปัญหาเหล่านี้ และพยายามที่จะยกระดับประชาธิปไตยไทยให้ไประดับที่สูงขึ้น ระบบที่สำคัญคือการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการตรวจสอบถ่วงดุล การมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน และหลักการอื่นๆ ที่มุ่งขจัดนักการเมือง รวมถึงพรรคการเมืองชั่ว ซึ่งเป็นอุปสรรคของการพัฒนาประชาธิปไดยไทย
ประชาธิปไตยไทยน่าจะค่อยๆ พัฒนายกระดับขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีนักการเมืองที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร นี่คือทัศนะของคุณชวน หลีกภัยในการปราศัยครั้งหนึ่ง ถ้าผมจำไม่ผิดที่เวทีผ่าความจริง ผมเห็นด้วยกับคุณชวนว่าคุณทักษิณ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยสามานย์อย่างเต็มรูปแบบ
สิ่งที่ทักษิณนำเข้าสู่การเมืองไทยคือ เงินทุนก้อนโต ประสิทธิภาพ ภาวะผู้นำ และประชานิยม
การเมืองไทยก่อนหน้าทักษิณ ทุนขนาดใหญ่เลือกที่จะอยู่ข้างหลังและหนุนพรรคการเมืองหลายพรรค นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีภาวะผู้นำและทักษะในการบริหารจัดการ และนโยบายแทบจะไม่ใช่ประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองเพราะทุกพรรคต่างประกาศนโยบายกว้างๆ คล้ายๆ กันเท่านั้น ทักษิณทำให้สิ่งเหล่านี้เปลี่ยนไป แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ การลงทุนและถอนทุนทางการเมือง แม้ว่าหลายคนเคยหวังว่า ทักษิณรวยแล้วจะไม่โกง ตรงกันข้าม การลงทุน ถอนทุนทางการเมืองกลับถูกยกระดับไปสู่มิติที่สูงขึ้น สลับซับซ้อนขึ้น ผ่านนโยบายประชานิยมและการทุจริตเชิงนโยบาย
ในทัศนะของผม หนึ่งในสาเหตุของประชาธิปไตยด้อยพัฒนาของไทยก็คือ ระบบคิดของนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ ที่มองว่าการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์และการจัดสรรผลประโยชน์ ความถูกต้องชอบธรรม ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ไม่ใช่สาระ หรือไม่มีอยู่จริง ชนะได้ก็เป็นฝ่ายถูก ในหัวของนักการเมืองเหล่านี้ การเมืองต้องพวกมากเข้าไว้ เงินถึงๆ นั่นแหละคือสรณะ
ผมไม่ได้คิดเช่นนี้ขึ้นมาลอยๆ หรืออ้างอิงใคร แต่มาจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสนักการเมืองบางคน ผมเคยชวนเพื่อนนักการเมืองให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ที่เน้นการสร้างสรรค์นโยบายที่ดี และธรรมรัฐ แต่เพื่อนนักการเมืองของผมตอบปฏิเสธทันทีว่า เป็นไปไม่ได้เพราะจะไม่มีทุนสนับสนุน นั้นคือ นักการเมืองต้องมีทุนเองหรือไม่ก็ต้องเข้าซบทุนการเมืองเท่านั้น
ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่ข้อยกเว้น เขาไม่เข้าใจว่า “ความชอบธรรม” เป็นพลังขับเคลื่อนสังคมที่ยิ่งใหญ่ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดขบวนการเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี พวกขาประจำที่คอยวิพากษ์วิจารณ์เขา จนถึงไม่เข้าใจรัฐประหาร 2549 เขาคิดได้แต่เพียงว่าเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ความอิจฉา และเมื่อคิดอะไรไม่ออกก็โทษ “มือที่มองไม่เห็น”
“มวลชน” ในความคิดของทักษิณ เกิดขึ้นได้ด้วยการปลุกปั่นและสร้างขึ้นมาโดยนักปราศัยฝีปากกล้า และด้วยท่อน้ำเลี้ยง มีใครสักคนทำให้เกิดขึ้น จากโลกทัศน์ที่ผิดเพี้ยนเหล่านี้ ในที่สุดนำไปสู่การสร้างขบวนการเสื้อแดง ผ่านนักเคลื่อนไหวมวลชนรับจ้าง จนถึงสร้างกองกำลังคนชุดดำ ผ่านพวกฮาร์ดคอร์ที่รับจ็อบเพื่อค่าตอบแทน ม็อบเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อตอบโต้พลังต่อต้านต่างๆ
ด้วยความมืดบอดและความคิดเชิงกลไก ทักษิณเป็นคนที่ยกระดับประชาธิปไตยด้อยพัฒนาของไทยไปสู่ “ประชาธิปไตยสามานย์” นั่นคือ หลักการอันดีงามของประชาธิปไตยและธรรมรัฐ ถูกบิดเบือนและนำไปใช้อย่างฉ้อฉล (abuse) ผ่านการใช้เงินและอำนาจเข้าควบคุมนักการเมือง พรรคการเมือง ข้าราชการ องค์กรอิสระ หัวคะแนน อิทธิพลท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชน และการใช้ประชานิยมมอมเมาประชาชน รวมถึงการใช้แนวคิดเชิงการบริหารและการตลาดมาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการทางการเมือง
แล้วเขาก็ประเมินและวิเคราะห์ปัญหาของตนเองผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า และไม่มีวันเข้าใจปัญหาที่แท้จริง
แน่นอนที่สุด ความชอบธรรมคือสิ่งที่จะคงอยู่ต่อไปได้ในที่สุด ไม่ช้าก็เร็ว