ในที่สุดปราสาทพระวิหารก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยการเสนอ ฝ่ายเดียวของเขมร ปฏิกิริยาจากประชาชนไทยส่วนใหญ่แสดงถึงความผิดหวัง โกรธแค้น แม้ว่าบางส่วนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าควรจะรู้สึกอย่างไร ทัศนะของทางการไทยในเรื่องนี้บอกว่า เรื่องมรดกโลกไม่เกี่ยวกับดินแดน แม้ว่าเขมรจะประสบความสำเร็จในการได้รับการยอมรับตามข้อเสนอขึ้นบัญชีปราสาท พระวิหารเป็นมรดกโลก ไทยก็ยังสามารถเสนอให้โบราณสถานโดยรอบรวมถึงปราสาทหินขอมอื่นๆ ในดินแดนไทยให้เป็นมรดกโลกได้ เรากำลังสู้กับเขมรว่าใครจะจดทะเบียนมรดกโลกได้ก่อนกระนั้นหรือ ประเดินของเรื่องนี้อยู่ที่ตรงไหนกันแน่
ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหาร น้อยมาก รวมถึงตัวผมเองด้วย เมื่อตอนที่เรื่องนี้เริ่มเป็นข่าวในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ ผมเองก็ยังงงๆ ว่าทำไมทหารจึงต้องแสดงความห่วงใยในเรื่องที่เขมรจะขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระ วิหารเป็นมรดกโลก ความเข้าใจตอนนั้นก็คือ ของๆ เขา เรื่องของเขา การที่ปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจะกระทบกระเทือนความมั่นคง ของไทยอย่างไร
แต่เมื่อมีการเปิดเผยรายละเอียดของคำ ตัดสินโดยศาลโลกรวมถึงเหตุการณ์แวดล้อมอื่นๆ ในคดีพิพาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 2005 คนไทยรุ่นใหม่รวมทั้งผมจึงเพิ่งจะเข้าใจหรือได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ละเอียด อ่อนในเรื่องนี้เป็นครั้งแรก
ประเด็นก็คือว่า ศาลโลกตัดสินยก”ปราสาทพระวิหาร”ให้ตกเป็นของเขมร แต่ไม่ได้ตัดสินเรื่องเขตแดนตามที่เขมรร้องขอต่อศาล ไทยไม่เคยยอมรับว่าดินแดนอันเป็นที่ตั้งของพระวิหารเป็นของเขมร แม้ว่าจะยินยอมถอนกำลังทหารออกจากปราสาทแห่งนี้ และปล่อยให้เขมรเข้าครอบครองต่อมา ตลอดเวลากว่า 4 ทศวรรษ คนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจแบบคร่าวๆ ว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของเขมร ไม่เคยรับทราบว่า ท่าทีอย่างเป็นทางการของไทยคือ เรายินยอมให้เขมรเข้าครอบครอง แต่ไม่ได้ยกดินแดนอันเป็นที่ตั้งให้
ที่ เหลือเชื่อก็คือ กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งควรจะรู้เรื่องนี้ดี ไม่เคยพูดถึงท่าทีทางการที่ยึดถือมาโดยตลอดนี้ให้ประชาชนได้ทราบ เราเพิ่งจะได้รับรู้เรื่องนี้จากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฏรเมื่อเร็วๆ นี้เอง อันที่จริง จนถึง ณ ปัจจุบัน ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าท่าทีที่เป็นทางการของไทยในเรื่องนี้คืออะไรกันแน่ เรายกปราสาทและที่ดินให้เขมรแล้ว หรือยกให้เฉพาะปราสาท แล้วที่ดินโดยรอบล่ะยังคงเป็นของไทยหรือไม่ เจ้าหน้าที่ทางการที่ออกมาพูดก้ดูจะยังอ้ำๆ อี้งๆ ไม่กล้าฟันธงไปในทางใดทางหนึ่ง
แม้ว่ายูเนสโกจะไม่ใช่ องค์กรที่จะตัดสินข้อพิพาทดินแดนระหว่างประเทศ แต่การที่ทางการไทยลงนามในแถลงการณ์ร่วมกับเขมรให้การสนับสนุนเขมรในการเสนอ ขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ย่อมมีความเสี่ยงในการที่เขมรจะนำไปอ้างว่า ไทยได้ยอมรับว่าบริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระวิหารเป็นของเขมร โดยไม่มีข้อโต้แย้ง นับเป็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีที่ทางการไทยเคยยึดถือมาโดยตลอด ประเด็นจึงมีอยู่ว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการเช่นนั้นได้หรือไม่ ซึ่งก็มีคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า การกระทำดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทำสนธิสัญญาซึ่งจะมีผลผุกพันให้ไทยต้อง เสียดินแดนให้เขมร
ผมจำได้ว่า สมัยที่อยู่ที่ญึ่ปุ่น ก็มีข้อพิพาทดินแดนทางเหนือของญี่ปุ่นระหว่างญี่ปุ่นกับรัสเซีย ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ไม่เคยถอยจากจุดยืนของตัวเอง แม้ว่าในทางปฏิบัติ รัสเซียจะยึดครองดินแดนดังกล่าว และญี่ปุ่นก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะใช้กำลังเข้ายึดคืนมา แต่ในการเจรจาทางการระหว่างสองประเทศเกือบทุกครั้ง ญี่ปุ่นก็ยังแสดงท่าทีของตัวเองในเรื่องนี้ต่อรัสเซีย ซึ่งรัสเซียก็จะบอกว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของรัสเซีย ผมแน่ใจว่า ถ้ามีนักการเมืองญี่ปุ่นคนไดเกิดไปแสดงท่าทีแม้แต่น้อยนิดจะด้วยวิธีใดก็ตาม ที่จะไปบอกว่า ดินแดนทางเหนือเป็นของรัสเซีย เพราะรัสเซียก็ยึดครองดินแดนนี้มาตั้ง 60 ปีแล้ว นักการเมืองผู้นั้นคงถูกคนญี่ปุ่นรุมประชาฑัณต์ไปในเวลาไม่นาน
ข้อ พิพาทดินแดน เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เป็นเรื่องทางการทหาร และการเมืองระห่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องที่มีกฏหมาย หรือกติการะหว่างประเทศไดๆ ที่จะเป็นที่ยอมรับได้โดยประเทศทั้งมวล แม้แต่ศาลโลกก็ไม่มีอำนาจบังคับ ถ้าจะบังคับจริงๆ ก็ต้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งทุกคนก็รู้ว่าการที่คณะมนตรีความมั่นคงจะดำเนินการใดๆ ก็เป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ใช่ข้อกฏหมายหรือคำตัดสินของศาลโลก
ผมคิดว่า ไทยต้องมั่นคงในจุดยืนของตัวเอง และต้องดำเนินการทั้งทางการทหารและการทูตอย่างเหมาะสม
No commenting allowed at this time.