แฝลชมอบที่เกิดขึ้นละกำลังกลายเป็นวิกฤติระดับชาติในปัจจุบัน แม้จะดูเหมือนว่าเกิดจากความไม่พอใจในการที่ทหารมีบทบาทสูงในการเมืองไทย และการที่เกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย แต่ผมคิดว่า นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่แสดงถึงความล้มเหลวในการสร้างระบบการเมืองที่มีธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานมาตั้งแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พศ. 2475 และนี่จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่เราอาจจะสามารถฝ่าทางตันและปฏิรูปการเมืองไทยอย่างแท้จริงได้ ถ้าคนไทยเลือกทางที่ถูก
ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 สังคมไทยมีพื้นฐานความเข้าใจและประสบการณ์ในอุดมการประชาธิปไตยและลัทธิเสรีนิยมน้อยมาก คนไทยเข้าใจ ยอมรับ และอยู่มากับระบบอุปถัมภ์ ที่ทุกคนมีและรับใช้เจ้านายและได้รับผลประโยชน์และการปกป้องเป็นการตอบแทน เป็นทอดๆ การพยายามสร้างระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบตะวันตกจากพื้นฐานเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เพราะระบอบประชาธิปไตยเองก็มีช่องว่างและจุดอ่อนมากมาย ประชาธิปไตยไทยจึงประสบกับการหยุดชะงักเป็นช่วงๆ หลายต่อหลายครั้งจากการรัฐประหาร ซึ่งช่วงแรกๆ เกิดจากการขัดแย้งในอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ แต่หลังๆ เกิดจากปัญหาที่มาจากกลุ่มทุนการเมืองที่เห็นช่องทางในการลงทุนและถอนทุนทางการเมือง ที่นำไปสู่การคอรัปชั่นในทุกระดับ เพื่อนนักการเมืองคนหนึ่งของผมพูดว่า “จะทำการเมืองได้อย่างไรถ้าไม่มีนายทุน” หลังปี 2540 ภาวการณ์นี้พัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง เมื่อมีการใช้นโยบายประชานิยม ซึ่งก็คือการเอาเงินภาษีของประชาชนมาซื้อเสียง นำไปสู่สิ่งที่ผมเรียกว่า “ประชาธิปไตยสามานย์” ซึ่งหนักหน่วง โจ๋งครึ่มและบ้าคลั่งที่สุดหลังปี 2550
สำหรับผม การรัฐประหาร 2557 เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ เพราะประเทศไทยตกลงสู่ห้วงเหวลึกของความขัดแย้งและความชะงักงันจากการออกมาชุมนุมเดินขบวนต่อต้านของประชาชนที่ทนไม่ใด้กับการใช้อำนาจบาทใหญ่ปกป้องพวกพ้องและการคอรัปชั่นที่บ้าบิ่นในจำนวนมหีมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ถ้าไม่มีทหารเข้ามา รีเซ็ต ระบบในครั้งนั้น ใครจะรับประกันได้ว่าเราจะไม่หล่นลงไปสู่ภาวะ “รัฐที่ล้มเหลว” เช่นเวเนซูเอล่าในปัจจุบัน
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช เข้าใจดีในระดับหนึ่งถึงภาระกิจที่ต้องดำเนินการ เห็นประสบการณ์ของการ “เสียของ” ของคณะรัฐประหาร 2549 สิ่งที่ คสช พยายามทำก็คือใช้เวลาให้นานขึ้นในการปฏิรูปและจัดระเบียบประเทศ โดยหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองต่างๆ ได้ดีขึ้นเมื่อมีการกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อเวลาผ่านไปการปฏฺิรูปที่แท้จริงเกิดขึ้นน้อยมาก และเห็นได้ชัดว่าต้องใช้เวลาอีกมาก แต่จากแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้ต้องเลือกที่จะกลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีโอกาสสูงที่การเมืองไทยจะกลับไปสู่วังวนประชาธิปไตยสามานย์ค่อนข้างสูง ดังจะเห็นได้จากคำถาม 6 ข้อ และ 10 ข้อของนายกประยุทธ์ ที่ถามประชาชนในปี 2560 สิ่งที่ คสช ทำได้และได้เลือกเป็นยุทธวิธีในการตอบโจทย์นี้ก็คือ การตั้งพรรคการเมืองพลังประชารัฐ เข้ามาเล่นในเกมที่ตนเองไม่ถนัด การใช้กลยุทธสืบทอดอำนาจ และหวังว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปราบโกง จะค่อยๆ แสดงอิทธิฤทธินำไทยไปสู่การเมืองใหม่ได้ในที่สุด
ข้อเรียกร้องของ แฝลชมอบ ที่ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตรย์ เช่น ไม่ให้ทรงลงพระปรมาภิไธยในกฎหมาย ไม่ให้มีพระราชดำรัสต่อสาธารณะ ไม่ใช่สาระสำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบการเมืองไทย และก็ไม่ใช่สิ่งที่ราชอาณาจักรอื่นๆ ถือปฏิบัติ จะมีก็แต่เป็นการตอบสนองความสะใจและ อีโก้ ของผู้ชุมนุมบางส่วนและผู้อยู่เบื้องหลังแฝลชมอบเท่านั้น การจัดสรรว่าส่วนไหนควรเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์หรือส่วนพระองค์ เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเอาอะไรมาเป็นเกณฑ์ ไม่มีถูกหรือผิด และไม่มีผลต่อปากท้องประชาชนและเศรษฐกิจของชาติอย่างมีนัยยะ แต่ถ้าจะไปถึงขั้นให้ยกเลิกสถาบันพระมหากษัตริย์ผมก็ไม่เชื่อว่าประชามติของคนไทยส่วนใหญ่จะเอาด้วย
การให้ สว มาจากการเลือกตั้งและไม่ให้มีสิทธิในการเลือกนายกฯ ผมก็ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำให้ไทยหลุดพ้นจากวงจรอุบาตของประชาธิปไตยสามานย์ได้ อาจจะแย่กว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ที่มีนายกคนนอกที่คอยคานอำนาจนายทุนการเมืองและนักการเมืองสามานย์ทั้งหลาย
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นทางออกที่จะมีประสิทธิภาพและได้ผลเร็ว คือ ต้องเปลี่ยนให้นายกฯ มาจากการเลือกต้้งโดยตรง ซึ่งจะทำให้นายกฯ มีความยอมรับที่ชัดเจนจากปวงชน มีมือที่เป็นอิสระในการทำงาน ไม่ใช่มือที่ถูกมัดไว้เนื่องจากต้องจัดสรรผลประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดๆ ให้สส ยังคงเป็นผู้อนุมัติงบประมาณ และมีอำนาจถอดถอนนายกฯ ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ชัดเจน เช่น การประพฤติชั่วหรือบริหารผิดพลาดอย่างร้ายแรง นี่จะเป็นการแบ่งแยกอำนาจบริหารและนิติบัญญัติได้อย่างแท้จริง และจะตัดวงจรลงทุนถอนทุนทางการเมืองได้
ผมเห็นว่า วิกฤติแฝลชมอบ เป็นโอกาสอีกครั้งที่จะปฏิรูปการเมืองไทยไปสู่่ “การเมืองใหม่” อย่างแท้จริง อย่าปล่อยให้วิกฤติครั้งนี้ “เสียของ”